| โปรแกรมฝึกซ้อมวิ่งมาราธอน | มาราธอนเพื่อบ้านเกิด |


 

กว่าจะเป็น เชียงใหม่มาราธอน

          ภายใต้สภาพวิกฤตเศรษฐกิจของโลก ผนวกกับวิกฤตการเงินของประเทศยักษ์ใหญ่ รวมทั้งราคาน้ำมันสูงขึ้น ในขณะที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังช่วยกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอากลยุทธ์ต่างๆออกมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นมาตรการที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนนำเงินตราเข้าประเทศอย่างได้ผล แต่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนี้ใช่ว่าจังหวัดเชียงใหม่ หรือประเทศไทย จะประสบปัญหานี้อยู่เพียงแห่งเดียว เมืองต่างๆทั้งเมืองเล็หเมืองใหญ่ทั่วทุกมุมโลก ต่างก็ประสพปัญหานี้เช่นกัน ทุกเมือง ทุกประเทศ ต่างก็มุ่งพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้น ดังนั้นปัจจัยประการสำคัญที่จะทำให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศให้ประสพความสำเร็จได้ นอกจากการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอันเป็นอุปสรรคทางด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังจะต้องได้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในเมืองนั้นๆ ทั้งภาคประชาชน สื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำให้กิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้น ให้มีความสอดคล้องและสามารถนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเมืองแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีความแตกต่างหัน ให้โดดเด่นอย่างชัดเจน จากกิจกรรมหรือแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งออกมาเป็นจุดขาย .....

 
          การวิ่งมาราธอน เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรม ซึ่งเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญและนิยมจัดขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างถิ่นให้เดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมและท่องเที่ยวในเมืองของตัวเองอย่างได้ผล เช่น บอสตันมาราธอน, แอล.เอ.มาราธอน, ลอนดอนมาราธอน,  ฮอนโนลูลูมาราธอน, ซีดนีย์มาราธอน, นิวยอร์คมาราธอน, รวมไปถึงมหานครใหญ่ๆในเอเชีย อย่าง โตเกียวมาราธอน, ปักกิ่งมาราธอน, ฮ่องกงมาราธอน, สิงคโปร์มาราธอน, ไนโรบีมาราธอน, บูมไบมาราธอน ฯลฯ

 
          ในประเทศไทย มีหลายจังหวัดได้จัดกิจกรรมการวิ่งมาราธอนขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพมาราธอน, พัทยามาราธอน,  ขอนแก่นมาราธอน,  ภูเก็ตมาราธอน, จอมบึงมาราธอน, แพร่มาราธอน, สุรินทร์มาราธอน, สงขลามาราธอน, เมืองเลยมาราธอน, และเขื่อนคลองท่าด่านนครนายกมาราธอน, นครพนมมาราธอน และยังมีจังหวัดเล็กๆ อีกหลายจังหวัด แม้จะขาดปัญจัยพื้นฐาน แต่ก็ยังมีแนวคิดและความพยายามที่จะจัดงานวิ่งมาราธอนขึ้นในจังหวัดของตน ฯลฯ

 
          เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, เทศกาลและประเพณี โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลายมากมาย โดยในปัจจุบันนี้ เชียงใหม่ ยิ่งเพิ่มศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมห้องพักในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีห้องพักทะลุเกิน 30,000 ห้องแล้วหลังงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ จึงถือได้ว่าเป็นหน้าที่ของคนคนเชียงใหม่ทุกคน รวมไปถึงทุกภาคส่วนภาคราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะต้องคิดและสรรค์สร้างกิจกรรมใหม่ๆ กิจกรรมดีๆ ให้ผู้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่นอกเหนือจากกิจกรรมเดิมๆ ที่ ปู่ ย่า ตา ทวด ได้นำร่องจัดขึ้น จนเป็นประเพณีจวบจนถึงทุกวันนี้

 
 
          “เชียงใหม่มาราธอน” (Chiang Mai Marathon ) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดจากความคิดและลงมือทำของกลุ่มคนชาวเชียงใหม่เล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเมตตาศึกษา (วัดเจดีย์หลวง) ซึ่งมีใจรักในการวิ่งระยะไกลซึ่งพอจะมีความรู้ในการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน ตลอดจนมีความสัมพันธ์อันดีกับวงการวิ่งมาราธอน ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ริเริ่มจัดโครงการนี้ขึ้นโดยงบประมาณส่วนตัวแบบเศรษฐกิจพ่อเพียง
 
          แม้ว่าการจัดกิจกรรมวิ่งเชียงใหม่มาราธอนที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่ค่อยให้ความร่วมแรงร่วมใจในการจัดเท่าที่ควรก็ตาม ทางฝ่ายจัดการแข่งขันจึงได้กำกนดจัด เชียงใหม่มาราธอน ขึ้น ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของปี โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2549 ครั้งที่ 2 เมื่อ 30 ธันวาคม 2550 ครั้งที่ 3 เมื่อ 28 ธันวาคม 2551 ครั้งที่ 4 เมือ 27 ธันวาคม 2552 ครั้งที่ 5 กำหนดจัดขึ้น 26 ธันวาคม 2553 และตั้งแต่ครั้งที่ 6 เป็นต้นมา ก็กำหนดจัดขึ้นในวันวันอาทิตย์ก่อนอาทิตย์สุดท้ายของเดือนธันวาคม โดยทีมงานผู้จัดก็ยังมีความมุ่งมั้นและเป้าหมายที่จะจัดให้เป็นกิจกรรมประเพณีต่อเนื่องไปทุกๆปี เฉกเช่นงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ (ปาเวณีปี๋ใหม่เมือง) และเทศกาลงานลอยกระทงยี่เป็งเชียงใหม่ ….

 
ว่ากันว่า...ในประเทศไทย มีนักวิ่งมาราธอนเป็นหมื่นคน
แต่ในประเทศไทย มีผู้จัดมาราธอนได้ดีมีมาตรฐานไม่เกิน 10 คน
ซึ่งคนที่ว่านั้น. วันนี้ส่วนใหญ่ อายุเกินกว่า 70 ปี ไปกันหมดแล้ว..


       
  จากนักวิ่งหางเครื่องคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้ามาคลุกคลีอยู่ในวงการวิ่งเพื่อสุขภาพในเมืองไทย กว่า 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะได้ลงสนามเป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพในสนามทุกระยะทาง ทั้งในและต่างประเทศ, ยังได้เป็นนักจักรยานเสือภูเขา, นักไตรกีฬา, เป็นนักข่าว, ช่างภาพ, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร วิ่ง-เสือภูเขา, เป็นเว็บมาสเตอร์, เป็นเด็กให้น้ำ, เป็นกองเชียร์, คนทำเส้นทาง, นักปั่นนำทาง-ปั่นประกบ-ปั่นปิดท้าย, ขับรถนาฬิกานำหน้าขบวนวิ่งแนวหน้า, ปิดท้ายขบวนดูแลนักวิ่งกลุ่มท้าย และยังมีโอกาสเดินทางสัญจรไปร่วมวิ่ง, ไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับการวิ่ง รวบรวมและก่อตั้งชมรมวิ่งทั่วไทย 75 จังหวัด (ขาดไป 2 จังหวัดที่เกิดใหม่) เป็นผู้จัดวิ่ง ทั้ง กทม.และ ตจว. ทั้งในนามส่วนบุคคลและในนามบริษัท มากกว่า 600 สนาม หลายๆครั้งยังเลยออกไปจัดยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย, และที่สำคัญยังได้เป็นพิธีกรดำเนินงาน, เป็นผู้อำนวยการจัดงานวางแผนงาน ประสานงานทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขัน, หลายสนามลงทุนจัดเอง หาผู้สนับสนุนเอง จากสนามมาราธอนเล็กๆ นักวิ่งร่วมงานไม่กี่ร้อยคน และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสนามมาราธอนนานาชาติ โดยไม่ต้องใส่คำว่าอินเตอร์เนชั่นแนล

          ในปี 2015 นี้..ผมได้รับโอกาสดีจากทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ไว้วางใจทีมงาน JOG&JOY จัดการแข่งขันรายการวิ่ง มากถึง 30 รายการ (4 มาราธอนนานาชาติ, 6 ฮาล์ฟมาราธอน และ 20 เดิน-วิ่ง มินิมาราธอน) วันนี้...สนามวิ่งที่เราจัดขึ้น อาจไม่ใช่สนามวิ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หรือ เป็นสนามวิ่งที่มีคนร่วมงานมากที่สุด แต่เราจะตั้งใจทำสนามวิ่งที่ดีมีคุณภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์กับแผ่นดินเกิดให้มากที่สุด เท่าทีจะทำได้ ขอบคุณทุกๆท่านที่มีสาวนร่วม จากวันนั้น ถึงวันนี้ เราพร้อมแล้วที่จะก้าวยาวๆไปข้างหน้า และก้าวต่อๆไป ให้ถึงเส้นชัย...

สายัณห์ สมดุลยาวาทย์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท จ๊อกแอนด์จอย จำกัด
ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการแข่งขัน เมืองไทยเชียงใหม่มาราธอน



 
STORY
ความเป็นมาของ "ถ้วยรางวัลเกียรติยศ และ เหรียญผู้พิชิต"
เชียงใหม่มาราธอน 2560 (ครั้งที่ 12)


พญานาคในดินแดนล้านนาไทย

          มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่มากเช่น ตำนานสิงหนวัติ เป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือเมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติ อพยพผู้คนมาจากทางเหนือพญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่และให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพไปปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "แคว้นโยนกนาคนคร" ต้นวงของพญามังรายผู้ก่อตั้งอาณาจักร ล้านนา
          ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหารมีรูปพญานาคเหนือราวบันไดประตูทางเข้าพระวิหารหลวงซึ่งกล่าวกันว่า เป็นรูปพญานาคที่สร้างได้สัดส่วนสวยงามที่สุดในภาคเหนืออายุกว่า 200 ปี วัดพระสิงห์วรวิหารศาสนสถานภายในวัดก็มีประติมากรรมเกี่ยวกับพญานาคประดับอยู่มากมายเช่นเชิงชายหลังคาพระอุโบสถพระวิหารหอพระไตรปิฎก เป็นต้นวัดเชียงมั่นวัดแสนฝาง วัดศรีสุพรรณและแทบทุกวัดในดินแดนล้านนาก็ล้วนแล้วแต่มีพญานาคเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ตัวกินนาค

     หลายท่านส่วนใหญ่คงต้องไปเที่ยวภาคเหนือ ที่พลาดไม่ได้คงต้องทำบุญตามวัดต่างๆ ซึ่งมีทั้งความสวยและงดงามในรูปแบบศิลปะล้านนา ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดลายฝาผนัง ตัวหน้าบัน ช่อฟ้า หรือแม้แต่บันไดนาค ท่านสังเกตมั้ยครับว่า รูปปั้นตัวนาคที่ประดับอยู่ตรงบันไดทางขึ้นทั้ง 2 นั้น มันออกมาจากปากตัวอะไรซักอย่าง ตัวที่อ้าปากงับนาคตรงบันไดวัดตามทางเหนือ (ภาคอื่นก็มีเหมือนกัน) เราเรียกกันว่า มกร (อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน) หรือมีอีกชื่อหนึ่งในโลกป่าหิมพานต์คือ เหรา (อ่านว่า เห-รา) ลักษณะของตัวนี้กล่าวกันไว้ว่า เป็นลูกครึ่งต่างชาติ มีพ่อเป็นนาค ส่วนแม่เป็นจรเข้ โดยมีช่วงลำตัวยาวเหมือนนาค แต่ว่ามีขางอกออกมา ที่ส่วนหัวมีลักษณะเหมือนนาคแต่ว่าตรงปากนั้นเป็นจรเข้ อาศัยอยู่แถวบริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ เป็นสัตว์ในความเชื่อทางแถบอินเดีย ศรีลังกา และพม่า ที่เรียกว่า มกร  แต่ก่อนชาวล้านนารู้จักแต่เพียงนาคหรือพญานาคทั้งนั้น ครั้นพอเห็นตัวที่มีหัวเป็นนาคหรือสำรอกนาคนั้นมีขางอกออกมา ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรดี ก็เลยคาดกันว่า ไปรับอิทธิพลจากจีนที่เรียกงูหรือนาคที่มีขาว่า มังกร หรือ มกร แล้วมันกินหรือคายนาค ตามจริงแล้วตัวเหรากำลังคายนาค ไม่ใช่กำลังกิน ซึ่งการคายนาคของเหรานี้ คงมองได้ 2 แบบ 

แบบที่ 1: ทางด้านการเมืองและศิลปะ
ในสมัยก่อนทางตอนเหนือของประเทศไทย มีอาณาจักรที่เรียกว่า อาณาจักรโยนกนคร หรือ โยนกนาคนคร กล่าวกันว่า ชาวเมืองนี้สืบเชื้อสายมาจากพญานาคจากเมืองบาดาล ต่อมาอาณาจักรแห่งนี้ก็ล่มสลายเพราะเหตุแผ่นดินไหว ผู้คนที่รอดก็พากันอพยพไปตั้งรกรากยังที่อื่นจนกลายเป็นดินแดนล้านนา และยังคงศิลปะที่มีนาคเป็นสิ่งศักสิทธิ์อยู่ ส่วนตัวเหรา นั้นเป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนจากพม่า ต่อมาพม่าก็ได้เข้าครอบครองอาณาจักรล้านนา ดังนั้น การที่เห็นตัวเหราคายนาคในศิลปะทางภาคเหนือนั้น ก็พอจะกล่าวได้ว่า พม่าต้องการข่มอาณาจักรล้านนาที่อยู่ภายใต้การปกครองว่า "เอ็งอยู่ในปากข้าแล้ว จะกัดให้ตายเมื่อไหร่ก็ได้" อารมณ์ประมาณนั้น หรือถ้ามองในด้านศิลปะ จะหมายถึงเป็นการหลุดพ้นจากอิทธิพลศิลปะและการเมืองของพม่าที่เข้ามาครอบครองอาณาจักรล้านนาถึง 200 ปี 

แบบที่ 2: ทางด้านพุทธศาสนา
ตัวเหรา ในทางพุทธศาสนา หมายถึง "อุปทาน ความยึดติด ความลุ่มหลง" ส่วนนาคนั้น หมายถึง "ความมีชีวิต ร่างกาย จิตใจของเรา" ถ้าอุปทาน ความลุ่มหลง(ตัวเหรา) มันจับเราไว้(นาค) เราก็จะรู้สึกเจ็บปวด ไปไหนไม่ได้ เพราะว่าเรายังยึดติดอยู่ ดังนั้น หากไม่อยากเจ็บปวดก็ต้องปล่อยวางจากสิ่งยึดติดต่างๆ (หลุดออกจากปากเหราให้ได้) นี่จึงเป็นกุศโลบายที่คนโบราณสอนทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างเรา . . .